ท่องเที่ยวเมือง

กอดบางกอก 2020 ตอนจบ พระทองคำวัดคฤหบดี
พายุทราย พรายทะเล / 23/03/2020 16:49:20
กอดบางกอก 2020
ตอนจบ ตามหาโบสถ์ร้างกลางตรอกบ้านปูนไปจนถึงวัดคฤหบดี
ตอนที่แล้วไปเที่ยวชมงานพุทธศิลป์และกราบพระที่วัดดุสิดารามวรวิหารกระทั่งบ่ายเย็นจึงย้ายมาที่ตรอกบ้านปูน เชิงสะพานพระราม 8 บางยี่ขัน ตรอกบ้านปูนเคยเป็นแหล่งผลิตปูนแดงหรืแปูนกินหมากในอดีต หากถามว่าตรอกนี้มีอะไร ต้องบอกว่ามีโบสถ์เก่าแก่สมัยอยุธยาที่ไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นวัด เลยเข้าไปด้านในมีวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ซึ่งเป็นวัดของต้นสกุลภมรมนตรี ที่สำคัญ วัดแห่งนี้มีพระประธานทองคำประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ
บทเริ่มต้น ตรอกบ้านปูน
บ้านไม้เก่า แสดงให้เห็นงานสถาปัตยกรรมดั้งเดิม
ศาลาธรรมตั้งอยู่กลางชุมชน
ชุมชนบ้านปูนไม่ได้ทำปูนมานานแล้ว สาเหตุเพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป แต่ความสำคัญในตรอกแคบเล็กแห่งนี้ยังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวสายศาสนา นักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจมักเดินทางเข้ามาเยี่ยมเยือนกันเสมอ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินั้นนิยมขี่จักรยานเข้ามาศึกษาบทวิถีและร่องรอยโบราณสถานที่ยังหลงเหลืออยู่
พระอุโบสถวัดสวนสวรรค์ทรุดโทรมมาก
ใบเสมาหักมุม สุดยอดใบเสมาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวบนแผ่นดินไทย
องค์เจดีย์ที่หลงเหลือและรอวันพังทลายไปตามอายุขัย เนื่องจากไม่มีการบูรณะปฏิสังขรณ์หรือซ่อมแซมใดๆ
เนื่องด้วยตรอกบ้านปูนเป็นชุมชนเก่าแก่ บ้านเรือนไม้เก่ายังพอมีให้เห็นรวมถึงศาลาธรรมหรือศาลากลางบ้านที่ชาวบ้านมาทำกิจกรรมกันในอดีต ลึกเข้ามาอีกนิดจะพบโบสถ์เก่าแก่มีมาแต่สมัยอยุธยา ตามหลักฐานชื่อ “วัดสวนสวรรค์” ภายหลังไม่มีพระจำพรรษา อาคารเก่าแก่ทรุดโทรมพังทลายเกือบหมด ปัจจุบันหลงเหลือแค่ใบเสมา เจดีย์ และพระอุโบสถ
ชาวบ้านเป็นผู้ช่วยกันดูแล แม้ไม่มีทรัพย์สินก็ดูแลกันไปตามมีตามเกิด ต้องบอกว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายหากพระอุโบสถนี้ทลายลง
งานปูนปั้นเหนือซุ้มหน้าต่างพระอุโบสถวัดสวนสวรรค์
งานปูนปั้นประดับหน้าบันพระอุโบสถวัดสวนสวรรค์ เป็นรูปพระอินทร์ จึงจินตนาการว่าเป็นสวนของพระอินทร์หรือสวนสวรรค์นั่นเอง
หลวงพ่อดำ พระประธาน วัดสวนสวรรค์ ภายในพระอุโบสถมีช่องหรือเจาะซุ้มขนาดเล็กยอดแหลม เป็นงานสถาปัตยกรรมที่นิยมในสมัยพระนารายณ์มหาราช
ใบเสมาวัดสวนสวรรค์เป็นใบเสมาที่แปลกที่สุดของไทย คือใบเสมาโดยทั่วไปเป็นแผ่นหินแบนหนา ส่วนใบเสมาที่นี่เป็นแผ่นเหมือนกันแต่หักมุม 90 องศา ส่วนเจดีย์และโบสถ์นั้นทรุดโทรมมาก คงเป็นเพราะไม่ได้ถูกยกฐานะให้เป็นวัดดังเดิม มีแต่ชาวบ้านเท่านั้นที่ช่วยกันบำรุงรักษา ซึ่งความจริงโบสถ์แห่งนี้น่าจะถูกทำนุบำรุงให้สมบูรณ์เพราะมีความสำคัญและมีความงามตามสายพุทธศิลป์ คืองามทั้งงานปูนปั้นเหนือกรอบหน้าต่างด้านนอก งามด้วยงานปูนปั้นหน้าบัน งามพร้อมด้วยพระประธานภายในโบสถ์ และงามด้วยสถาปัตยกรรมพระอุโบสถขณะดื่มด่ำกับความงามในความเก่าแก่ก็ได้แต่ภาวนาว่าวันหนึ่งพระอุโบสถวัดสวนสวรรค์จะกลับมางดงามแข็งแรงเหมือนในอดีต และคงอยู่ยืนยาวต่อไป
พระอุโบสถและวิหารวัดคฤหบดีไม่มีจั่วแหลม ไม่มีช่อฟ้าใบระกา ซึ่งถูกตัดทอนออกหมด เป็นงานสถาปัตยกรรมแบบสมัยนิยมในยุคสมัยรัชกาลที่ 3
หน้าบันประดับงานปูนปั้นลายพุดตาน
ออกจากวัดสวนสวรรค์เดินลัดเลาะเข้ามาอีกหน่อยจะพบพระอารามหลวงชั้นตรี คือวัดคฤหบดี วัดที่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเป็นที่ตั้งบ้านเดิมของพระราชมนตรี (ภู่) ข้าราชการในคลังมหาสมบัติครั้งรัชกาลที่ 3 ได้อุทิศให้สร้างเป็นวัด ซึ่งหลักฐานชิ้นนี้ตรงกับงานสถาปัตยกรรมอุโบสถและวิหารรวมถึงรายละเอียดส่วนอื่นๆ ที่ตรงกับสมัยนิยมยุครัชกาลที่ 3 เช่น อาคารพระอุโบสถและพระวิหารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาลดหลั่นสองชั้น มุงกระเบื้องเคลือบไม่มีช่อฟ้าใบระกา มีระเบียงเดินได้รอบพระอุโบสถ เสานางเรียงรองรับชายคาเป็นเสาเหลี่ยมไม่มีหัวเสา หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบและเครื่องถ้วยชามจีน เป็นต้น
พระคำแซก พระประธานวัดคฤหบดีประดิษฐานอยู่ในบุษบกไม้แกะสลัก มีพระอัครสาวกเบื้องซ้ายขวา เป็นพระที่มีพุทธลักษณะงดงามมาก สังเกตว่าพระบาตรจะอ่อนช้อยผิดกับลักษณะพระเชียงแสนองค์อื่นๆ
นอกจากตัวสถาปัตยกรรมและงานประดับดังกล่าว ภายในพระอุโบสถยังปรากฎสิ่งสำคัญมาก นั่นคือพระแซกคำ พระแซกคำเป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน ลักษณะขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองลูกบวบ ขนาด 18 นิ้ว ภายในองค์พระบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีข้อสังเกตหนึ่งคือที่บอกว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนนั้นมีความต่างออกไป คือมีความอ่อนช้อยมากกว่า ส่วนประวัติความเป็นมา ซับซ้อนนิดหน่อย คือบางตำราบอกว่าเราเอามาจากลาว บางตำาราบอกว่าลาวเอาไปจากแผ่นดินไทยล้านนา คือในยุคพระไชยเชษฐากษัตริย์ลาวเชื้อสายไทยเดินทางมาครองเมืองเชียงใหม่ระยะหนึ่ง ตอนกลับได้เอาพระแซกดำกลับไปลาวด้วย ภายหลังเจ้าพระยาบดินทร์เดชานำกองทัพไปปราบเวียงจันทร์จึงเอากลับมาคืนแผ่นดินสยาม สุดท้ายรัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานให้เป็นพระประธานประจำวัดคฤหบดี
เรือนปราสาทหรือบุษบกไม้แกะสลัก งานวิจิตรบรรจงฝีมือเชิงช่างที่งดงามมาก
พระแซกคำเป็นพระที่งดงามด้วยพุทธลักษณะ องค์ไม่ใหญ่แต่เป็นพระประธานประจำวัด ประดิษฐานอยู่ในเรือนปราสาทหรือบุษบกไม้แกะสลัก มีพระอัครสาวกอยู่เบื้องซ้ายและเบื้องขวา พระอัครสาวกทั้งสององค์เป็นพระคนละยุคกับพระแซกคำ สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 3 – รัชกาลที่ 4 แม้พระประธานกับพระอัครสาวกจะอยู่คนละยุคคนละสมัยแต่เมื่อดูองค์ประกอบโดยรวมนับว่างดงามกล่อมกล่อมไม่ขัดเขินแต่ประการใด
ใบเสมามีลักษณะพิเศษคือเป็นใบเสมาคู่ในซุ้มสีชาวซึ่งมีลายปูนปั้นประดับอยู่ด้านบน
ประตูพระวิหารเขียนรูปเทวดาลงรักปิดทอง
เสียดายช่วงเวลาที่เราไปถึงวัดคฤหบดีมีเวลาน้อย เป็นช่วงใกล้ค่ำ ดูอะไรไม่ถนัดชัดตา พระสงฆ์กำลังจะทำวัตรจึงต้องลากันแบบค้างๆ คาๆ (คาใจ) ก็ได้แต่หวังว่าจะได้กลับมาชมงานพุทธศิลป์อย่างละเอียดอีกครั้งในคราวหน้าหรือในช่วงที่เหมาะสมครับ
ระเบียงวิหารมีช่องระบายลมเป็นบล็อกเซรามิกแบบจีน (รูปวงกลมในสี่เหลี่ยม) เป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3
ปฏิมากรรมสิงห์แบบจีนเป็นอีกหนึ่งในงานศิลปะที่นิยมในรัชกาลที่ 3 เช่นกัน
ด้านหน้าพระวิหารมีรูปหล่อลอยตัวของพระนางจามเทวีประดิษฐานอยู่
การเดินทางทริปกอดบางกอก 2020 ที่เริ่มตั้งแต่บางหว้า วัดกำแพง วัดดุสิตารามวรวิหาร กระทั่งมาถึงวัดคฤหบดี รวมทั้งหมด 4 ตอนได้จบลงเพียงเท่านี้ หวังว่าการนำเสนอคงมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย หากผิดพลาดประการใดขออภัยไว้ ณ ที่นี้ ขอบคุณที่ติดตามครับ
อ้างอิง
- จดหมายเหตุการณ์อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ.2525