ท่องเที่ยวสถาปัตยกรรมสยาม

สถาปัตยกรรมไตละม้ายวิหารในนอรเวย์
พายุทราย พรายทะเล / 20/06/2017 13:31:57
สถาปัตยกรรมไทยใหญ่
ไทยใหญ่ (ไต) เป็นคนไทยบนดอยสูงที่ถอยร่นลงมาจากทางตอนเหนือนอกเขตประเทศไทย ชาวไตจากเขตแดนพม่าเข้ามาปักหลักอยู่ในไทยเป็นเวลานานหลายชั่วอายุคน และด้วยเป็นเผ่าพันธุ์ที่ใหญ่เหมือนชื่อ คนไตจึงมีวัฒนธรรมประเพณีหลายอย่างที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ รวมถึงสถาปัตยกรรมอันงดงามแปลกตาก็เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์เผ่าพันธุ์ที่บ่งชี้ถึงความเป็นไตได้เป็นอย่างดี
เรื่องสถาปัตยกรรมชาวไตมีเรื่องน่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งที่ชวนสงสัยและน่าอัศจรรย์ใจ คือสถาปัตยกรรมวัดของชาวไตบนแผ่นดินไทยมีรูปลักษณะคล้ายคลึงกับวิหารไม้หรือบ้านไม้ในประเทศนอรเวย์ราวอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน หรือเป็นชนเผ่าที่ถือกำเนิดอยู่ในละแวกเดียวกัน อันนี้เป็นเรื่องบังเอิญที่ชาวนอร์เวย์เองยังทำหนังสือสถาปัตยกรรมเล่มหนาออกมาเปรียบเทียบให้เห็นถึงความคล้ายคลึงให้ชมและพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนด้วย งานสถาปัตยกรรมชาวไตในประเทศไทยแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภทคือ วัดและบ้าน
วัดจองกลาง
วัดต่อแพ
วัด ถือเป็นงานสถาปัตยกรรมชั้นสูง วัดของชาวไตมีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนใคร สถาปัตยกรรมเชิงศาสนาหรือวัดที่โดดเด่นเห็นชัดที่สุดมักมีอาคารเดียวเพราะรวมเอาวิหาร ศาลาการเปรียญ และกุฏิ เข้าไว้ด้วยกัน วิหารเป็นอาคารแบบตั้งลอยไม่กำหนดสัดส่วนด้วยกำแพงแก้วกั้นเหมือนวัดในภาคกลางหรือวัดล้านนา
เอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่เห็นชัดคือตัวอาคารส่วนใหญ่เป็นวิหารไม้ หลังคาซ้อนสองชั้นแบบยกคอสอง 2 ชั้น มีชายคา 3 ตอน (ชายคาสามตับ) หรือที่เรียกกันว่า “หลังคาแบบคอสอง สามชาย” หากเป็นวัดสำคัญอาจมีหลังคาผสมระหว่าง หลังคายกคอสอง 2 ชั้น กับชายคาสามตับ ผนวกด้วยหลังคาซ้อนชั้นแบบยอดปราสาท ประดับตกแต่งด้วยไม้หรือโลหะฉลุลาย และตกแต่งรวงผึ้งประกับด้านหน้าแบบฉลุลาย
(ซ้าย) วัดถ้ำก่อ (ขวา) วัดจองคำ
(ซ้าย) วิหารพระเจ้าพาราละแข่ง (ขวา) วัดต่อแพ
นอกจากวิหารดังกล่าว ภายในวัดยังมีงานสถาปัตยกรรมอื่นๆ อีก เช่น องค์พระเจดีย์ ที่แบ่งเป็นเจดีย์แบบเดี่ยวและเจดีย์กลุ่ม ส่วนสถาปัตยกรรมขนาดย่อมลงมามีการแสดงให้เห็นถึงฝีมือเชิงช่างนั่นมีเวจกุฏิกับศาลาสรงน้ำพระ
ในส่วนของบ้านหรือเรือนมีลักกษณะทางสถาปัตยกรรม (พื้นถิ่น) 2 ลักษณะคือ เฮินโหลงสองส่อง กับ เฮินโหลงตอยเหลียว
หอสรง (ซ้าย) วัดต่อแพ (ขวา) วัดเมืองปอน
(ซ้าย) วัดจองคำ (ขวา) วิหารไม้เก่าของนอรเวย์
(ซ้าย) วิหารเก่าของนอรเวย์ (ขวา) วิหารพระเจ้าพาราละแข่ง
เฮินโหลงสองส่อง เป็นเรือนที่มีลักษณะหลังคาสองหลังต่อเชื่อมกันด้วยรางรินตรงกลาง มีองค์ประกอบของเรือน คือจาน (ชาน) ส่องไพ (ครัว) ทั้งจานและส่องไพอาจรวมอยู่ในตัวเรือนหลังใดหลังหนึ่งหรือแยกส่วนออกไปต่างหาก เรือนแบบนี้เป็นเรือนของครอบครัวที่มีขนาดใหญ่ มีสมาชิกภายในครอบครัวหลายคน
เฮินโหลงตอยเหลียว เป็นเรือนที่มีหลังคาเพียงหลังคาเดียว มีชานและครัวแยกออกต่างหากได้เช่นเดียวกัน เหมาะกับครอบครัวขนาดเล็ก ที่มีจำนวนสมาชิกอยู่อาศัยไม่มาก
บ้านชาวไต
จากเนื้อหาทั้งหมดรวมถึงภาพที่ปรากฏสังเกตเห็นว่าวัดกับบ้านนั้นมีความต่างตรงที่วัดมีความประณีตวิจิตรตระการตา และใหญ่โตเพราะเป็นศูนย์รวมในการทำกิจกรรมทางศาสนา ส่วนบ้านมีความเรียบง่ายไม่มีอะไรสลับซับซ้อน แสดงให้เห็นถึงสังคมการเป็นอยู่ เห็นถึงวิถีชุมชน ทั้งบ้านและวัดมีสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งบ้านและวัดก็มีเอกลักษณ์เฉพาะที่บ่งชี้ให้เห็นความเป็นไตได้ไม่แพ้กัน ทั้งหมดที่กล่าวมาคือสถาปัตยกรรมที่งดงามของชาวไตหรือไทยใหญ่ที่ปรากฏอยู่บนแผ่นดินไทย
หมายเหตุ
- วัดไตทั้งหมดบันทึกภาพจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นเมืองที่มีชาวไตอาศัยอยู่มากที่สุด